วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เล่นการเมือง


หมายถึง

การเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเมืองในทางใดทางหนึ่ง  เช่น สมัครรับเลือกตั้งเป็น สส.  บางกรณีหมายถึงการใช้วิธีการทางการเมืองเพื่อได้สิ่งที่ตนต้องการ

รัฐบาลสามัคคีบริโภค


หมายถึง

รัฐบาลที่ร่วมมือกันของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อหาผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน  และจากการเสนอโครงการใหญ่ๆ ในลักษณะฉ้อราษฎร์บังหลวง 

ฟาสต์ฟู๊ตคาบิเนต


หมายถึง

คณะรัฐมนตรีที่รีบเร่งในการหาเงินด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง  หรือผลประโยชน์จากโครงการใหญ่ๆ  เนื่องจากเวลามีจำกัดจนขาดความละเมียดละไม 

บุฟเฟ่ต์ โพลิติกส์


หมายถึง

รัฐบาลที่ปล่อยให้รัฐมนตรีแต่ละคนฉ้อราษฎร์บังหลวงหาประโยชน์จากการดำรงตำแหน่ง  เหมือนกับการรับประทานอาหารแบบบุฟเฟ่ต์

โนมินี


หมายถึง  
การใช้ตัวแทน  เช่น  เป็นรัฐบาลโนมินีเท่ากับทำหน้าที่แทนคนอื่นในการบริหารบ้านเมือง  หรือการให้ลูกเมียหรือญาติไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


ความหมาย

เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวมบทความทางวิชาการหลายสาขา ทั้ง วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ รวมทั้ง มีกระดานข่าวสาธารณะให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และส่วนสารานุกรมฟรี ในเรื่องเกี่ยวกับลัทธิหลังสมัยใหม่ การนำเสนอคำศัพท์ใหม่ ๆ พร้อมคำอธิบายเพื่อทำความเข้าใจโลก และความคิดร่วมสมัย ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เนื้อหาในเว็บไซต์ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ (ลิขซ้าย) โดยระบุไว้ในหน้าแรกของเว็บไซต์ว่า "ผู้ที่นำข้อมูลสารานุกรมฟรีไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ เผยแพร่ หรืออ้างอิง โดยต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ได้รับความยินยอมจากผู้เรียบเรียง สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ตามที่ระบุไว้ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร โดยระบุถึงเว็ปไซต์ และ URL มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org" โดยมี สมเกียรติ ตั้งนโม ทำหน้าที่เป็นทั้งเว็บมาสเตอร์และบรรณาธิการเว็บไซต์

ที่มา


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นชื่อของเครือข่ายวิชาการและเว็บไซต์ที่นำเสนอการสนทนาแลกเปลี่ยนจากเครือข่ายวิชาการในชื่อเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอุดมศึกษาได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ ก่อตั้งโดยกลุ่มนักวิชาการซึ่งเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์และอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มี สมเกียรติ ตั้งนโม เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยราชดำเนิน


ความหมาย

มหาวิทยาลัยราชดำเนิน (อังกฤษ: Ratchadamnoen University) เป็นมหาวิทยาลัยในนามซึ่งก่อตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ และมีลักษณะเฉพาะกิจ เพื่อเป็นเสมือนชื่อของสถาบันการศึกษา โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2551 ผู้ชุมนุมในกลุ่มพันธมิตรนั้น มีสถานะเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยราชดำเนิน ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชน มีสถานะเป็นนักเรียน ซึ่งมีสังกัดเป็นโรงเรียนสาธิตมัฆวาน

ที่มา

โดยคำว่า มหาวิทยาลัยราชดำเนิน นี้ถูกพูดถึงขึ้นมาเป็นครั้งแรกในรายการ News Hour ของเติมศักดิ์ จารุปราณ และ อัญชลีพร กุสุมภ์ เมื่อเติมศักดิ์ได้หยิบเอาข้อความแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ผู้จัดการที่ให้นิยามถึงคำว่า มหาวิทยาลัยราชดำเนิน เปรียบเปรยการชุมนุมครั้งนี้เหมือนกับการได้มาศึกษาหาความรู้จากวิทยากรและผู้ปราศรัยต่าง ๆ ซึ่งหาไม่ได้จากสถาบันการศึกษาใด ๆ

แผนปฐพี 149

ความหมาย

ชื่อเรียกแผนการรักษาความสงบเรียบร้อย ในลักษณะของแผนเผชิญเหตุ แต่เดิมทางทหารใช้สำหรับควบคุมดูแลผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่เปลี่ยนมาใช้ในการรัฐประหารในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 แทน โดยกองกำลังหลักที่สำคัญในการรัฐประหารครั้งนี้ คือ กองทัพภาคที่ 1 ของ พล.ท.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และกองทัพภาคที่ 3 ของ พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร

ที่มา

วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2550 ถูกนำมาใช้เพื่อรับมือกรณีการชุมนุมขับไล่คมช. โดยทีมงานสถานีโทรทัศน์พีทีวี

นักรบไซเบอร์


ความหมาย

ผู้ปฏิบัติการต่อสู้เชิงข้อมูลข่าวสารในสงครามไซเบอร์ ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารต่าง ๆ

ที่มา

ปรากฏใช้ครั้งแรกเมื่อปี ในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองไทย เช่น ในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แม้ว่าจะมีการระงับการให้ข้อมูลเว็บไซต์ต่าง ๆ และปิดกั้นการออกอากาศของสถานีประชาชนก็ตาม แต่นักรบไซเบอร์ได้เผยแพร่ข้อมูลต่างๆอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงหาช่องทางต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดสดการชุมนุมจนได้รับการขนานนามจาก พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผลว่า นักรบจิ้มแป้น และบ่อยครั้งที่แกนนำผู้ชุมนุมนำคลิปวิดีโอจากอินเทอร์เน็ตไปเผยแพร่ต่อบนเวทีปราศรัย ด้านรัฐบาลก็ได้มีการนำคลิปวิดีโอจากอินเทอร์เน็ตในการชี้แจงเช่นเดียวกัน

การเมืองภาคประชาชน

ความหมาย

การเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะโดยตรง โดยไม่ผ่านทางตัวแทนของพรรคการเมือง หรือหน่วยงานราชการ การเมืองภาคประชาชนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งย้ำแนวคิดที่ว่า "การเมืองไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง


ที่มา



การเมืองภาคประชาชนเป็นคำจำกัดความโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ แบ่งพิจารณาได้ 3 แนวทางปฏิบัติ ดังนี้
การริเริ่มกฎหมาย
การลงประชามติ
การถอดถอน

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คืนหมาหอน



หมายถึง 

คืนสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง มีความสำคัญในแง่ว่าเป็นคืนที่จะมีการทุจริตการเลือกตั้งสูงมาก โดยเฉพาะการตระเวนตามบ้านเรือนทุกหลังคาเรือนเพื่อซื้อเสียงครั้งสุดท้าย อันเป็นการจ่ายเงินที่หวังผลกำไรสูงมาก เพราะหากประเมินแล้วว่าคะแนนตนยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือเสียงที่ซื้อไปก่อนหน้านี้ถูกซื้อไปด้วยเงินที่สูงกว่า ก็จะต้องรีบซื้อเสียงหรือแจกเงินเพิ่ม นับว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะพลิกสถานการณ์ เป็นการวัดดวงหรือทิ้งทวนครั้งสุดท้ายก็ว่าได้ นอกจากนี้ การแจกเงินซื้อเสียงที่จะมีอิทธิพลต่อผู้ไปลงคะแนนนั้น หากทำในวันใกล้เลือกตั้งมากที่สุดก็อาจช่วยให้เป็นที่จดจำได้ง่ายด้วย

การเมืองใหม่


ความหมาย

กระบวนการและวิธีการ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของกลุ่มคน คำนี้มักจะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับรัฐบาล แต่กิจกรรมทางการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในทุกกลุ่มคนที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งรวมไปถึงใน บรรษัท, แวดวงวิชาการ และในวงการศาสนา

ดับเทวดา


หมายถึง

หลายคนระบุว่า หมายถึงเฮียตุ๊ดตู่ของผม ซึ่งเป็นเทวดาเสื้อแดงที่เสี่ยดูไบอยากให้เป็นส.ส.และมท.1 แต่วันนี้กลับถูก “ดับบารมี” และ “ดับฝัน” อย่างน่าเสียดาย โอกาสที่จะไม่ได้เป็น ส.ส.มีสูงยิ่ง

ขี่คอ



หมายถึง

ว่ากันว่าทันทีที่ปูแดงแรงฤทธิ์เป็นนายกฯ จะถูกคนเสื้อแดงขี่คอทันใด เพราะบุญคุณที่ได้จากคนเสื้อแดงใหญ่หลวงนัก 


หลอกตัวเอง


หมายถึง


จอมโกหกที่โกหกทุกเช้าค่ำ จนพลอยเชื่อไปกับคำโกหกของตนเองอย่างเหลือเชื่อ คำว่า “หลอกตัวเอง” นี้ให้รวมถึงโพลล์ทรงเจ้าเข้าผีปั้นแต่งให้ตนเองชนะลอยลำ เป็นรายการ “หลอกทั้งชาวบ้าน” และ “หลอกทั้งตัวเอง”

วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หมัดเหล็กหุ้มกำมะหยี่


ความหมาย
เป็นนโยบายที่เสี่ยดูไบได้สารภาพไว้ว่า “ลืมนำมาใช้” กับประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ แต่กลับไปใช้ หมัดเหล็กหุ้มถุงมือเหล็กแทน 

ยืนตัวตรง



ความหมาย:
ท้าทาย, ปฏิเสธ, หรือพาตนให้หลุดพ้นจากภาวะของการกดขี่ข่มเหง, ความไม่เท่าเทียมกัน, ความอยุติธรรม, การลิดรอนสิทธิเสรีภาพ, และการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่เคยครอบงำพฤติกรรม, ความคิด, และจิตวิญญาณมาเป็นเวลาช้านาน, ซึ่งส่งผลให้รู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน.
ที่มา:
มาจากคำอภิปรายของ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในการเสวนาหัวข้อ “ปรากฏการณ์ ๑๑๒ ริกเตอร์” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕.

ภาวะเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์



ความหมาย:
สภาพสังคมที่แม้โครงสร้างที่เป็นทางการทางกฎหมายและการเมืองจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย, แต่ผู้คนจำนวนมากกลับมีกรอบคิด, พฤติกรรม, และความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เป็นทางการ ราวกับว่าอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์.
ที่มา:
มาจากปาฐกถานำเรื่อง “นิทานประชาธิปไตยไทย: ตำนานฐานรากของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดย ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ และปฤณ เทพนรินทร์, ในงานสัมมนา “๑๐๐ ปี กบฏประชาธิปไตย ร.ศ.๑๓๐ – ๘๐ ปี ปฏิวัติประชาธิปไตย พ.ศ. ๒๔๗๕” เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
(อังกฤษ: virtual absolutism)

เผด็จการเสียงข้างมาก



ความหมาย:
การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่การดำเนินนโยบายใดๆ มักขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายที่กุมคะแนนเสียงข้างมากในสภา โดยไม่ให้ความสำคัญกับเสียงส่วนน้อยเสียจนจนดูราวกับเป็นการปกครองในระบอบเผด็จการ. ทั้งนี้, มีผู้สังเกตว่ารูปแบบการปกครองลักษณะนี้มักเกิดขึ้นเมื่อพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งไม่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล.
ที่มา:
นี่คือวาทกรรมที่มักสร้างขึ้นและผลิตซ้ำโดยผู้ที่นิยมลัทธิการปกครองโดยคนกลุ่มน้อย, ผู้ที่ไม่ไว้ใจหรือดูแคลนประชาชน, หรือผู้ที่ต้องการรักษาโครงสร้างทางอำนาจแบบเดิมไว้, โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายความชอบธรรมของอุดมการณ์ทางการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตย.

ประชาธิปไตยแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์



ความหมาย:
ระบอบการปกครองที่แม้อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ—อันประกอบด้วย อำนาจนิติบัญญัติ, บริหาร, และตุลาการ—อยู่ที่กษัตริย์เพียงพระองค์เดียวก็ตาม แต่กษัตริย์ก็ปกครองในลักษณะบิดาปกครองบุตรเพื่อให้ประชาชนเป็นสุข… หืม! เอ่อ, อะไรนะ!?!
ที่มา:
มาจากหัวข้อประวัติศาสตร์การปกครองของไทย ในหนังสือ “คู่มือเตรียมสอบปลัดอำเภอ” ของสมศักดิ์ จุฑาวงศ์กุล และทีมงาน. นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการที่รัฐไทยสร้างและผลิตซ้ำวาทกรรมเรื่องระบอบการปกครองแบบไทย โดยจับระบอบการปกครองที่ไม่อาจเข้ากันได้มายัดไว้ด้วยกัน, จนทำให้ระบอบต่างๆ—โดยเฉพาะประชาธิปไตย—หมดพลังในตัวเอง และเส้นกั้นระหว่างระบอบเหล่านั้นพร่าเลือนลง.

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กินปูนร้อนท้อง


ความหมาย


เป็นอาการของนักเลือกตั้งบางพรรค ที่อยู่ ๆ คนในพรรคต่างตกใจกันจ้าละหวั่น เมื่อมีคนนำเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองเมื่อเดือนพฤกษภาคม ปีที่แล้วมาตีแผ่

กลับลำ


ความหมาย

เป็นปฎิบัติกการของเหล่าตอแหลกระแตวับ เคยประกาศนโยบายอะไรไปแล้ว ต่อมาเกิดการต่อต้าน ก็รีบกลับลำ 360 องศาอย่างด้าน ๆ ว่า “ไม่ได้พูด”

ค่าแรงขั้นต่ำ


ความหมาย
เป็นจุดขายที่พรรคการเมืองทั้งหลายต่างเกทับบลั๊ฟแหลก ล่าสุดพรรคของเสี่ยดูไบถึงขั้นประกาศให้วันละ 1,000 บาทถ้วน ๆ แรงงานไร้ฝีมือก็จะได้เดือนละตก 30,000 บาท นายจ้างทั้งหลายฟังแล้วขนหัวลุกแน่ 

สับขาหลอก


ความหมาย
เป็นการซ่อนเร้นเป้าหมายหลักที่ต้องการทำ แต่ชูเป้าหมายรองให้ชาวบ้านได้เห็น เช่น ตั้งใจจะช่วยพี่ชายให้พ้นคุก ก็ต้องสับขาหลอกว่า “จะไม่ทำ” แต่ต้องการช่วยชาวบ้านให้พ้นโทษต่างหากเล่า 

ขายฝัน




ความหมาย
การอวดนโยบายที่ “เกินจริง” ของบางพรรคการเมือง โดย “ขายฝัน” ถึงขนาดคนไทยไม่ต้องทำงานทำการอะไร แต่จะได้เงินอย่างอู้ฟู้ เรียนฟรี รักษาฟรีและมีที่ดินทำกินฟรี แถมทำผิดกฎหมายก็ไม่ต้องติดคุก เพราะจะมีการออกกฎหมายนิรโทษความผิดให้

วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ตุลาการรัฐประหาร



ความหมาย:
การล้มล้างอำนาจของฝ่ายบริหารและ/หรือฝ่ายนิติบัญญัติโดยอาศัยเครื่องมือและกลไกที่เป็นทางการทั้งหลายของฝ่ายตุลาการ, โดยมักอ้างเหตุผลที่ขัดกับหลักการที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป และมักเกิดขึ้นควบคู่หรือสอดรับกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ.
ที่มา:
มาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ชะลอการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๕, และรายการ Divas Café ประจำวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ทางสถานีโทรทัศน์ Voice TV.
คำที่มีความหมายเดียวกัน: รัฐประหารโดยตุลาการภิวัตน์

เจริญสติ



ความหมาย:
รู้สึกตัวทั่วพร้อม, อันเป็นการกระทำที่สามารถสร้างปาฏิหาริย์และแก้ปัญหาได้สารพัดนึกโดยไร้เงื่อนไขหรือข้อจำกัดทั้งในมิติทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรม, เวลา, หรือสถานที่, นับตั้งแต่ปัญหาระดับบุคคล—เช่น การติดยาเสพติด และการป่วยเป็นโรคมะเร็ง เป็นต้น—เรื่อยไปจนถึงปัญหาความขัดแย้งในระดับนานาชาติ.
ที่มา:
มาจากข้อเขียนเชิงล้อเลียนเสียดสีในสื่อสังคมออนไลน์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือ “อริยสัจทูเดย์” ของ พระมหาวุฒิชัย (ว. วชิรเมธี) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เพื่อสมโภชพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า.

ซึ้งนามิ



ความหมาย:
ปรากฏการณ์สึนามิทางความรู้สึกนึกคิดที่ซัดกระหน่ำถาโถมเข้าใส่ภาวะซาบซึ้งแบบล้นเกินซึ่งดำรงอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน, และกระตุ้นให้สาธารณชนตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรม, ลำดับความสำคัญ, และขอบเขตที่เหมาะสมในการจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมภาวะดังกล่าว.
ที่มา:
มาจากการแสดงความคิดเห็นบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เกี่ยวกับปัญหาในระบบเตือนภัยสึนามิ, ภายหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเล ความแรง ๘.๙ ริกเตอร์ บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๕

ตัว ตลก.



ความหมาย:
คณะบุคคลจำนวนเก้าคนที่ควรจะยึดมั่นในหลักการและสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างยิ่ง แต่กลับแสดงความเลื่อนลอยและทำลายความน่าเชื่อถือของตนเองด้วยวิธีการอันไม่อาจคาดเดาได้อยู่เสมอ จนกลายเป็นที่ขบขัน, หัวเราะเยาะ, และสมเพชเวทนาของสาธารณชน.
ที่มา:
มาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชั่วคราวให้ชะลอการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ และเหตุการณ์สืบเนื่องหลังจากนั้น.
คำที่มีความหมายเดียวกัน: คณะ ตลก., ตลก. รัฐธรรมนูญ
ดู: ตุลาการภิวัตน์, ตุลาการรัฐประหาร

องค์รัฏฐาธิปัตย์



ความหมาย:
เจ้าของอำนาจอธิปไตย หรือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ อันประกอบด้วยอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ
ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย องค์รัฏฐาธิปัตย์คือประชาชน

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อุทกรัฐประหาร



ความหมาย:
๑. การอาศัยภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งในสังคมอันสืบเนื่องจากอุทกภัยเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อชี้ให้เห็นข้อบกพร่องในการบริหารจัดการของรัฐบาล อันจะนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลในที่สุด
๒. ความพยายามล้มล้างรัฐบาลโดยใช้อุทกภัยเป็นเครื่องมือ

คำที่มีความหมายเดียวกัน: รัฐประหารโดยน้ำ

ที่มา: ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Le Figaro ของฝรั่งเศส และโดย อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ (ฝรั่งเศส: coup d’État aquatique)

อัณฑะบูด



ความหมาย:
๑. มีความคิดเห็นในเชิงหยาบคาย ไม่สร้างสรรค์ ไม่มีคุณค่า ไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่ได้สะท้อนความเป็นเหตุเป็นผล
๒. ไม่สำเหนียกตนเอง หรือสำคัญตนผิด
๓. มีลักษณะดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
๔. ไร้วิจารณญาณหรือรสนิยมขั้นวิกฤติ
๕. หน้าด้าน ไร้ยางอาย หรือไร้สามัญสำนึก
ที่มา:
มีที่มาจากนักธุรกิจผู้หนึ่งซึ่งแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านเครือข่ายสังคม เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔

เอาอยู่



ความหมาย:
ประกาศว่าสามารถรับมือ จัดการ ควบคุม หรือรอดพ้นวิกฤตการณ์ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มั่นใจ ไม่ได้ไตร่ตรอง หรือไม่ได้ประเมินสถานการณ์อย่างถี่ถ้วน ทั้งนี้ หมายถึงกิจกรรมทางการบริหารจัดการเท่านั้น มิได้หมายถึงกิจกรรมอื่นใดทั้งสิ้น
ที่มา: 
มาจากวลีที่นายกรัฐมนตรีตอบคำถามสื่อมวลชนว่าจะสามารถรับมืออุทกภัยได้หรือไม่

อารยะขัดขืน



ความหมาย:
วิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปฏิเสธหรือต่อต้านกฎหมาย คำสั่ง หรือการะกระทำใดๆ ของรัฐบาลโดยสงบหรือในแนวทางของอารยชน
ที่มา:
คำนี้มีความหมายเดียวกับคำว่าการขัดขืนอย่างสงบ และเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายในราวปี ๒๕๔๙ จากการชุมนุมเพื่อขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แม้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายครั้งประกาศว่าดำเนินไปในแนวทางนี้ แต่กลับปรากฏการกระทำบางอย่างที่ขัดแย้งกับคำว่าอารยะโดยสิ้นเชิง
(อังกฤษ: civil disobedience)

อากง




ความหมาย: 
ชายสูงอายุผู้ต้องสูญเสียอิสรภาพถึง ๒๐ ปี เนื่องจากไม่อาจพิสูจน์ให้เชื่อได้ว่าตนไม่ได้ส่งข้อความที่ถูกพิจารณาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจำนวนรวม ๔ ข้อความ ไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรี
ที่มา: นามสมมติของนายอำพล จำเลยที่ถูกตัดสินเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ว่ากระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา ๑๔ อนุ ๒ และ ๓ นามสมมตินี้มีที่มาจากชื่อที่หลานๆ และคนในครอบครัวเรียกนายอำพลอยู่เป็นประจำ
ชะตากรรมของนายอำพลในครั้งนี้ช่วยตอกย้ำจุดอ่อนของประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ และพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และก่อให้เกิดการอภิปรายในวงกว้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อุตรโครียานุวัตร



ความหมาย:
กระบวนการเปลี่ยนแปลงให้มีสภาพคล้ายกับประเทศเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ทั้งนี้ ประเทศไทยตกอยู่ในกระบวนการนี้มายาวนาน และแม้จะเดินไปบนเส้นทางสู่ประชาธิปไตยเต็มใบแต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะไปถึง
ที่มา:
บัญญัติขึ้นครั้งแรกโดย ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ ในการเสวนา “๖ ทศวรรษ กับการเปลี่ยนแปลงในสังคมท้องถิ่นล้านนา”
(อังกฤษ: Northkoreanization)

อากงโกโฟเบีย ๑๑๒



ความหมาย:
โรคติดต่อที่พบในเขตร้อน ค้นพบครั้งแรกในสยามเมื่อ ๘๐ ปีมาแล้ว แต่เชื้อกลายพันธุ์และกลับมาระบาดหนักช่วงหลังน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ โดยแพร่กระจายในเขต กทม. และชานเมือง ผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง เชื้อสายไทยจีนอายุ ๕๐-๖๐ ปีขึ้นไป ติดต่อผ่านผู้ใกล้ชิด โทรศัพท์มือถือ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ทีวี และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ติดเชื้อจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน วิงเวียนศีรษะ ควบคุมตนเองไม่ได้ มักใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความผิดๆ ถูกๆ ยังไม่มีการค้นพบยาป้องกันหรือรักษาโรคนี้แต่อย่างใด ต้องนำผู้ป่วยมากักขังอย่างน้อย ๒๐ ปี เพื่อสกัดกั้นการฟักตัวและการแพร่ระบาดของเชื้อ
ที่มา:
บัญญัติขึ้นโดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๔
(อังกฤษ: Akongo-phobia 112)

อเจ้า



ความหมาย:
บุคคลที่ไม่ได้เป็นหรืออยู่ขั้วตรงข้ามกับเจ้าแต่มีความต้องการเจ้าอย่างยิ่งยวดในการดำรงชีพและดำเนินชีวิตตามปกติ เหตุเพราะได้นิยามตัวตนโดยยึดโยงไว้กับระบอบเจ้าอย่างเหนียวแน่น หากระบอบดังกล่าวได้รับการกระทบกระเทือนจะรู้สึกหวั่นไหวราวกับสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นคนไทยและความเป็นคนของตนไป บุคคลเหล่านี้จึงมักมีพฤติกรรมหรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่เป็นเจ้ายิ่งกว่าเจ้าเสียเอง

ที่มา:
มาจากบทความชื่อ “อาถรรพ์แห่งศัพท์” ของมุกหอม วงษ์เทศ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ www.prachatai.com เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๕

อธิเกรียน



ความหมาย:
อธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่เคยมีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ซึ่งนิยมใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ทางการเมือง แต่เมื่อแสดงความคิดเห็นคราใดก็มักจะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ คำครหา คำติฉินนินทา และเสียงก่นด่าครานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเหตุผลรองรับข้อคิดเห็นทั้งหลายและพฤติกรรมในการตอบโต้คู่สนทนา อุปมาเหมือนเด็กเกรียนที่มักแสดงใสซื่อตามเว็บบอร์ดทั่วไป
ที่มา:
มาจากพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวซึ่งมักปรากฏให้เห็นเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรณรงค์ทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์ นับตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๔ ถึงต้นปี ๒๕๕๕

เอเอสทีวีผู้จัดการภิวัฒน์



ความหมาย:
กระบวนการเปลี่ยนแปลงให้มีคุณสมบัติและพฤติกรรมเหมือนสื่อมวลชนเครือหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องนโยบาย ยุทธศาสตร์ อุดมการณ์ จริยธรรม บรรทัดฐาน หรือค่านิยมทางการเมืองที่มีลักษณะถอยหลังเข้าคลอง และมุ่งทำลายคู่แข่งด้วยวิธีอันไม่น่าพิสมัยนานัปการ เช่น ใส่ร้ายป้ายสี ชกใต้เข็มขัด ยกเมฆ หรือเต้าข่าว เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยให้เอาชนะได้แล้วยังจะส่งผลให้พ่ายแพ้ตลอดกาลด้วย

ที่มา:
มาจากบทความขนาดสั้นเรื่อง “แนวโน้มถดถอยแบบ ASTV/Managerization ของพรรคประชาธิปัตย์” ในเฟสบุ๊คส่วนตัวของ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

(อังกฤษ: ASTV/Managerization)


วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อัลตร้ารอยัลลิสต์



ความหมาย:
บุคคลที่มีความจงรักภักดีและความเชื่อมั่นศรัทธาในลัทธิกษัตริย์นิยม-ทั้งในฐานะตัวบุคคลหรือสถาบัน-อย่างสูงล้นมากเสียจนไม่คำนึงถึงเหตุผล และหลงคิดไปว่าผู้ที่มีความจงรักภักดีต่ำกว่ามาตรฐานของตนนั้นเป็นศัตรูคู่แค้นที่จำเป็นจะต้องกำจัดให้สิ้นซากด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าวิธีการนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม พฤติกรรมโดดเด่นของบุคคลเช่นนี้ก็คือมักดึงสถาบันเข้ามาสู่ความขัดแย้งน้อยใหญ่อยู่เสมอ และมักอวดอ้างความจงรักภักดีของตนมาใช้เป็นเครื่องมือในการระราน คุกคาม ข่มขู่ อาฆาตมาดร้าย ทำร้าย หรือทำลายผู้อื่นโดยมิได้ยั้งคิดว่าการกระทำเช่นนั้นจะส่งผลเสียต่อสถาบันอย่างไร
คำที่มีความหมายเดียวกัน: อุลตร้ารอยัลลิสต์, พวกคลั่งเจ้า
ที่มา:
พบว่าเริ่มใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์และอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑

อภิสิทธัตถะ



ความหมาย:
บุรุษผู้ถึงพร้อมด้วยชาติวุฒิ คุณวุฒิ วัยวุฒิ คุณธรรม จริยธรรม และความดีงามทั้งปวง ซึ่งจะสามารถสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศให้เกิดศานติสุขได้สำเร็จดั่งความมุ่งหมาย แม้ว่าบุรุษผู้นั้นจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะที่มีการสังหารหมู่เพื่อนมนุษย์กลางท้องถนนก็ตาม
ที่มา:
มาจากการบรรยายในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทยบนพื้นฐานความปรองดอง” โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ในการสัมมนากรรมการบริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓

เสียบประจาน



ความหมาย:นำพฤติกรรมและข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างจากตนมาเปิดเผยในที่สาธารณะ เพื่อให้ผู้ที่มีความเห็นสอดคล้องกับตนได้ร่วมประณาม ด่าว่า หรือสาปแช่ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือ ทำลายชื่อเสียง สร้างความอับอาย หรือทำให้หวาดกลัว
การกระทำเช่นนี้สามารถพบเห็นได้ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริง ตัวอย่างของผู้ตกเป็นเหยื่อ ได้แก่ นักร้องชายผู้เข้าประกวดร้องเพลงในบ้านหลังหนึ่ง เป็นต้น

สารขัณฑ์



ความหมาย:
ประเทศสมมติในอุษาคเนย์ที่ประสบวิกฤติการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ อันเนื่องมาจากอิทธิพลทางการเมืองระดับโลกในยุคสงครามเย็น

ที่มา:
ปรากฏครั้งแรกในชื่อ Sarkhan ในนิยายการเมืองเรื่อง The Ugly American (๒๕๐๑) ของยูจีน เบอร์ดิค และวิลเลียม เลเดอเรอร์ จากนั้นจึงถูกใช้นำมาใช้ในเชิงอุปมาเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทยมาโดยตลอด ในการเมืองร่วมสมัยประเทศสารขัณฑ์อาจใช้ในความหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกับตอแหลแลนด์

สลิ่มปริ่มน้ำ



ความหมาย: 
สลิ่มที่อยู่ในภาวะตื่นตระหนกจนเกินเหตุอันเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัย และยกระดับความหวาดหวั่นให้มากขึ้นในหมู่พวกเดียวกันเอง จนกระทั่งเผลอคิดไปว่าตนจะไม่สามารถเอาชีวิตรอดจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้
และโดยมากมักผ่อนคลายความรู้สึกเช่นว่าด้วยการนำข้อเท็จจริงหรือกุเรื่องขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเมามัน หรือแบ่งปันข่าวสารในทำนองเดียวกันอย่างสนุกมือผ่านเครือข่ายสังคมทั้งหลาย

ที่มา:
ปรากฏครั้งแรกในรายการ Wake Up Thailand ทาง Voice TV เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๔

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สันติวิธี



ความหมาย:
กระบวนการหรือแนวทางในการเรียกร้องทางการเมืองหรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่อาศัยวิธีการอื่นแทน อาทิ การชุมนุมโดยสงบ การปราศรัย การเดินขบวน การลงชื่อ การคว่ำบาตร การนัดหยุดงาน การไม่จ่ายภาษี การดื้อแพ่ง การแสดงละคร หรือการแสดงศิลปะ เป็นต้น
(อังกฤษ: nonviolence, nonviolent action)

สลิ่มเสื้อแดง



ความหมาย:
คนเสื้อแดงที่มีคุณลักษณะหรือพฤติกรรมคล้ายสลิ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีตรรกะหรือเหตุผลรับรองที่หนักแน่นเพียงพอ การไม่มีความเสมอต้นเสมอปลายในการเรียกร้องของตน และการเลือกปฏิบัติเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น
ที่มา:
ใช้ครั้งแรกโดย ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในการวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวในการเรียกร้องความยุติธรรมของคนเสื้อแดงในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๔ แต่มิได้เอ่ยถึงกรณีที่อากงถูกพิพากษาจำคุก ๒๐ ปีแม้แต่น้อย

สังคมลัทธิ



ความหมาย:
สังคมที่สมาชิกส่วนใหญ่ถูกควบคุมความคิดและพฤติกรรมให้เชื่องหรือเซื่องซึมต่อการใช้อำนาจเผด็จการและการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ผ่านการเสริมสร้างและเชิดชูสถานะและภาพลักษณ์ของผู้นำให้สูงส่งเหนือมนุษย์ ซึ่งสมาชิกเหล่านั้นนอกจากจะไม่ฉุกคิด ไม่ตั้งคำถาม และไม่แสวงหาความจริงแล้ว ยังพึงพอใจ ยินดีปรีดา และซาบซึ้งกับการครอบงำดังกล่าวอีกด้วย
ที่มา:
มาจากบทความชื่อ “แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน: ความสำคัญของเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกในสังคมไทย และเหตุใดเราจึงมิอาจนิ่งเฉยอยู่กับที่เมื่อเสรีภาพดังกล่าวสั่นคลอน” ของปราบดา หยุ่น ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกใน prachatai.com เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๔
(อังกฤษ: cult)

สื่อเสี้ยม



ความหมาย:หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ นักหนังสือพิมพ์ นักจัดรายการวิทยุ นักจัดรายการโทรทัศน์ นักเขียนบล็อก นักข่าว ผู้ประกาศข่าว หรือสื่อมวลชนอื่นใด ที่มักนำเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางสังคมในลักษณะยุยง ปลุกปั่น หรือส่งเสริมการทะเลาะวิวาท ความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ความเคียดแค้น หรือความแตกแยกในสังคมให้เกิดขึ้นหรือทวีความรุนแรงมากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อยอดขายหนังสือพิมพ์หรือยอดผู้รับฟังรับชมรายการของตนเอง
ที่มา:
ในการเมืองไทยร่วมสมัย สื่อมวลชนทุกคนและทุกสำนักสามารถกลายเป็นสื่อเสี้ยมในสายตาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งระหว่างเสรีนิยม-ประชาธิปไตย กับอนุรักษ์นิยม-เผด็จการ หรือของทั้งสองฝ่ายในเวลาเดียวกันก็ได้

เสียงข้างน้อยที่มีความชอบธรรม



ความหมาย:
คนกลุ่มน้อยในสังคมหรือฝ่ายที่มีคะแนนเสียงข้างน้อยในสภาที่เชื่ออย่างยิ่งว่าพวกตนมีระดับสติปัญญา ฐานะทางเศรษฐกิจ สถานะทางสังคม มาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม ความเชื่อ หรือค่านิยม หรือมีพลังอำนาจวิเศษนอกระบบบางอย่างคอยให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน จนเป็นเหตุให้หลงคิดว่าพวกตนมีความชอบธรรมในการแสดงความคิดเห็นหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมากกว่าฝ่ายเสียงข้างมาก

ที่มา:
นี่คือวาทกรรมที่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองหลังการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ปรากฏในรายการ Wake Up Thailand เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๕ โดย มล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล

(อังกฤษ: righteous minority)