วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
แช่แข็งประเทศไทย
ความหมาย:
งดเว้นกระบวนการทางการเมืองทั้งหลายที่ดำเนินการโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นทำหน้าที่แทนเป็นระยะเวลาห้าปี, อันจะส่งผลให้ประเทศได้พักฟื้นจากความขัดแย้งและมีเสถียรภาพ ก่อนจะเดินหน้าต่อไปได้.
ที่มา:
มาจากข้อเสนอขององค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) และ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์, ในการชุมนุม ณ สนามม้านางเลิ้ง เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕.
หกจี
ความหมาย:
มาตรฐานของอุปกรณ์, เทคโนโลยี, เครือข่าย, และบริการด้านการโทรคมนาคมเคลื่อนที่ยุคที่หก. มาตรฐานเช่นว่านี้อาจถือกำเนิดขึ้นหรือมีพร้อมใช้ในประเทศไทย ได้ด้วยพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น, และมิอาจเป็นไปได้ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย.
ที่มา:
มาจากการแสดงความคิดเห็นของนิติพงษ์ ห่อนาค บนเฟสบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๕.
(อังกฤษ: 6G)
วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555
ปลาวาฬสีน้ำเงิน
ความหมาย:
น้ำหนักของมวลน้ำในอุทกภัยใหญ่เมื่อปี ๒๕๕๔, โดยมวลน้ำ ๑๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำหนักเท่ากับปลาวาฬสีน้ำเงินจำนวน ๕๐ ล้านตัว.
คำที่มีความหมายเดียวกัน: น้องน้ำ
ที่มา:
มาจากตัวละครในวีดิทัศน์แอนิเมชั่น ชุด “รู้สู้ Flood ตอนที่ ๑: รู้จักน้ำท่วมให้มากขึ้น” ซึ่งผลิตและเผยแพร่โดยกลุ่มอาสาสมัครนามว่า “รู้ สู้! Flood” เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔.
โทรสั่งพิซซ่า ๑๑๑๒
ความหมาย:
ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒.
ที่มา:
มาจากคำล้อเลียนข้อความของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เขียนบนเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า “เลิก ๑๑๒ สิครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง” เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๕. ภายหลัง, สำนวนนี้กลายเป็นแท็กไลน์ที่มีผู้นิยมใช้ในกรณีที่ตนไม่อาจเปิดเผยข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวแก่เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ด้วยเกรงว่าจะกระทบสวัสดิภาพของตนและครอบครัว.
███████
ความหมาย:
บุคคล, เหตุการณ์, เรื่อง, การกระทำ, หรือวัตถุสิ่งของที่คุณก็รู้ว่าคือใครหรืออะไร แต่มิอาจระบุชื่อบุคคลหรือสิ่งนั้นออกมาได้โดยตรง อันเนื่องมาจากมีอุปสรรคบางประการกีดขวางอยู่—โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, กฎหมายที่มีอัตราโทษสูงอย่างเหลือเชื่อ หรือกฎหมู่ที่มีความป่าเถื่อนรุนแรง เป็นต้น.
ที่มา:
เริ่มใช้และแพร่หลายบนเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๕. การใช้รหัสลับเพื่อรับและส่งสารเช่นนี้สะท้อนให้เห็นภาพสังคมที่มีการปิดกั้นบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร, การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางได้เป็นอย่างดี.
ทพจร.
ความหมาย:
คำอวยพรที่กลายเป็นคาถาสำเร็จรูป ซึ่งมีผู้นิยมใช้เป็นจำนวนมาก และมักบริกรรมโดยมีวัตถุประสงค์หลายประการ, อาทิ เพื่อประกาศความรักบริสุทธิ์อันหาที่สุดมิได้, เพื่อความปลอดภัยและความเจริญก้าวหน้าในชีวิตการงาน, เพื่อปัดป้องคำวิพากษ์วิจารณ์หรือการตรวจสอบ, หรือเพื่อใช้เป็นใบอนุญาตในการแสดงออกหรือก่อการใดๆ ในนามแห่งความรัก—ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีเหตุผลหรือหลักวิชารองรับ หรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม—เป็นต้น.
ที่มา:
พฤติกรรมการบริกรรมคาถาเช่นว่านี้สามารถพบเห็นได้มาเป็นระยะเวลาช้านาน, ทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจริง.
วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555
สงครามครั้งสุดท้าย
ความหมาย:
การรณรงค์ทางการเมืองครั้งใหญ่ เพื่อเคลื่อนไหวกดดันอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด, โดยมักมีการระดมกำลังคนและทรัพยากรจำนวนมหาศาล และใช้ยุทธวิธีอันวิจิตรพิสดารต่างๆ นานา. ผู้เข้าร่วมรณรงค์มักถูกปลุกเร้าให้รู้สึกว่ากำลังเสียสละเพื่อกู้ชาติบ้านเมืองจากความฉิบหาย.
คำที่มีความหมายเดียวกัน: การต่อสู้ครั้งสุดท้าย.
ที่มา:
คำนี้มักใช้ในหมู่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย—โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล—ซึ่งใช้บ่อยจนกลายเป็นคำพูดติดปาก. เป็นที่น่าสังเกตว่าสงครามครั้งสุดท้ายอาจเกิดขึ้นได้หลายครั้ง
โทสวาท
ความหมาย: [โทสะวาท]
คำพูดที่มุ่งโจมตี, ใสร้าย, ประจาน, หรือประณามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ ซึ่งเป็นผลจากหรือนำไปสู่ความรังเกียจชิงชังในเรื่องเพศ, เพศสภาพ, ความบกพร่องทางร่างกาย, สีผิว, สัญชาติ, ชาติพันธุ์, ศาสนา, ลัทธิพิธี, อุดมการณ์ทางการเมือง, หรือลักษณะเฉพาะอื่นๆ ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้น.
คำพูดที่มุ่งโจมตี, ใสร้าย, ประจาน, หรือประณามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ ซึ่งเป็นผลจากหรือนำไปสู่ความรังเกียจชิงชังในเรื่องเพศ, เพศสภาพ, ความบกพร่องทางร่างกาย, สีผิว, สัญชาติ, ชาติพันธุ์, ศาสนา, ลัทธิพิธี, อุดมการณ์ทางการเมือง, หรือลักษณะเฉพาะอื่นๆ ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้น.
ที่มา:
มาจากบทความชื่อ “โทสวาท” ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๓-๑๙ มกราคม ๒๕๕๕.
มาจากบทความชื่อ “โทสวาท” ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๓-๑๙ มกราคม ๒๕๕๕.
(อังกฤษ: hate speech)
พญาควาย
ความหมาย:
ประเทศมหาอำนาจทางเกษตรกรรม, อันเป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยควรมุ่งไป และจะบรรลุได้ด้วยการที่ประชาชน: รักษามรดกทางวัฒนธรรม, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม; ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความพอประมาณ, มีเหตุผล, และมีภูมิคุ้มกัน; ยึดหลักคุณธรรม, จริยธรรม, และศีลธรรม; ไม่ใช้กิเลสเป็นเครื่องนำทาง; ไม่อิงหลักวิชาของชาวตะวันตก; และไม่ตกเป็นทาสทุนนิยม, วัตถุนิยม, และบริโภคนิยม.
คำที่มีความหมายเดียวกัน: มหิงสา
ที่มา:
มาจากสุนทรพจน์พิเศษของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในการเสวนาวิชาการหัวข้อ “ก้าวข้ามภาวะวิกฤติ สู่ความมั่นคงยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ อาคารรัฐสภา ๒.
ความเห็นส่วนตัว
ความหมาย:
ความนึกคิด, ข้อสังเกต, ข้อวินิจฉัย, หรือทัศนคติของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งแสดงออกตามประสบการณ์, ความเชื่อ, หรือค่านิยมส่วนตัวเท่านั้น, โดยมิได้อิงอยู่กับความเห็นพ้องต้องกันของกลุ่มหรือของสาธารณชนแต่อย่างใด และอยู่นอกเหนือขอบเขตของข้อเท็จจริง, หลักการ, หรือความรู้อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป. เมื่อใช้สำนวนนี้, ผู้พูดมักบอกเป็นนัยว่าตนไม่ขอรับผลพวง, คำวิพากษ์วิจารณ์, ข้อโต้แย้ง, หรือการหักล้างที่อ้างอิงข้อเท็จจริงหรือหลักวิชาการ.
ความนึกคิด, ข้อสังเกต, ข้อวินิจฉัย, หรือทัศนคติของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งแสดงออกตามประสบการณ์, ความเชื่อ, หรือค่านิยมส่วนตัวเท่านั้น, โดยมิได้อิงอยู่กับความเห็นพ้องต้องกันของกลุ่มหรือของสาธารณชนแต่อย่างใด และอยู่นอกเหนือขอบเขตของข้อเท็จจริง, หลักการ, หรือความรู้อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป. เมื่อใช้สำนวนนี้, ผู้พูดมักบอกเป็นนัยว่าตนไม่ขอรับผลพวง, คำวิพากษ์วิจารณ์, ข้อโต้แย้ง, หรือการหักล้างที่อ้างอิงข้อเท็จจริงหรือหลักวิชาการ.
ที่มา:
มีผู้นิยมใช้สำนวนนี้ในการแสดงความคิดเห็นทั้งในพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะ–โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์–เป็นอย่างมาก, จนดูราวกับว่าหากไม่ใช้ ความเห็นของตนจะกลายเป็นความเห็นของมวลมนุษยชาติ.
มีผู้นิยมใช้สำนวนนี้ในการแสดงความคิดเห็นทั้งในพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะ–โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์–เป็นอย่างมาก, จนดูราวกับว่าหากไม่ใช้ ความเห็นของตนจะกลายเป็นความเห็นของมวลมนุษยชาติ.
เมืองดัดจริต
ความหมาย:
อาณาจักรที่เป็นศูนย์รวมมนุษย์ผู้มีความเสแสร้ง, มารยาสาไถย, หน้าไหว้หลังหลอก, และปากว่าตาขยิบซึมลึกเข้าถึงระดับโครงสร้างทางพันธุกรรม. มีรูปแบบปกครองระบอบดัดจริตาธิปไตย. ลักษณะเด่นของประชาชนคือมักแสดงตนว่าเป็นผู้มีศีลธรรมสูง, มีน้ำใจงดงามเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, รักเพื่อนมนุษย์, รักธรรมชาติ และรังเกียจทุนนิยม. บรรดาผู้ที่แม้จะมีความเถรตรงโดยกมลสันดานจำต้องฝึกหัดและครองตนตามแนวนโยบายดัดจริตแห่งชาติ, มิเช่นนั้นจะหาความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตได้ยาก หรือประสบเคราะห์กรรมนานัปการ เช่นว่า ถูกขับไล่ออกจากแผ่นดินเกิด หรือโดนเก้าอี้ฟาด เป็นต้น.
ที่มา:
มาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นหลังปี ๒๕๔๙. คำนี้เริ่มใช้อย่างแพร่หลายเมื่อมีการก่อตั้งเพจอยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อป บนเฟสบุ๊คเมื่อกลางปี ๒๕๕๔.
วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555
ดัดจริต
ความหมาย:
แสร้งพูดหรือแสดงกิริยาอาการในที่สาธารณะจนเกินระดับที่วิญญูชนพึงกระทำ, ซึ่งมักขัดกับความรู้สึกนึกคิดหรือความต้องการที่แท้จริงของตน, โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความมีชื่อเสียง, เพื่อความเจริญก้าวหน้ามั่นคงในหน้าที่การงาน หรือเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตนเองและครอบครัว. ตัวอย่างเช่น ประกาศตนว่าอยากใช้ชีวิตสมถะตามวิถีธรรมชาติ ทั้งที่แท้จริงต้องการเพียงเที่ยวท่องชมป่าเขาลำเนาไพรชั่วครั้งคราวเท่านั้น เป็นต้น.
ที่มา:
มาจากพฤติกรรมที่สามารถพบเห็นได้จนชินตาทั้งในโลกจริงและโลกเสมือนจริง, อาทิ หนังสือ, รายการโทรทัศน์, เวทีกิจกรรม, และเครือข่ายสังคมออนไลน์ เป็นต้น.
เกาหลีเหนือพลัดถิ่น
ความหมาย:
บุคคลผู้ปลาบปลื้มกับการโฆษณาชวนเชื่ออย่างต่อเนื่อง และเซื่องซึมต่อการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพโดยไม่รู้ตัว. อุปมาดั่งพลเมืองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ที่ถูกปลูกฝังมาเป็นเวลายาวนานให้ศรัทธาลัทธิบูชาตัวบุคคลและระบอบการปกครองอันละเมิดสิทธิมนุษยชน, จนแม้จะพลัดพรากจากแผ่นดินแม่ไปอยู่ที่อื่นก็ไม่อาจสลัดพฤติกรรมและแนวคิดอันเกิดจากความศรัทธาในลัทธิและระบอบดังกล่าวทิ้งไปได้.
ที่มา:
บุคคลผู้มีลักษณะเช่นว่านี้สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปในดินแดนต่างๆ อาทิ ตอแหลแลนด์, สารขัณฑ์, และเกาหลีเหนือแห่งอุษาคเนย์ เป็นต้น.
ส่องนก
ความหมาย:
สวมชุดพรางและใช้อาวุธปืนเล็กยาวจู่โจมประจำกายชนิดเอ็ม ๑๖ ติดกล้องส่องนก—ที่มีจำหน่ายตามตลาดนัดทั่วไป—เพื่อสอดส่องระวังป้องกันสิ่งมีชีวิตหรือวัตถุบางอย่างจากที่สูง. นี่เป็นงานอดิเรกที่มักทำเป็นคู่, โดยคนหนึ่งทำหน้าที่ชี้เป้าระยะไกล ขณะที่อีกคนคอยส่องกล้องระยะใกล้, และมักสนทนากันด้วยคำพูดชุดเดิมซ้ำไปมา เช่น “ล้มแล้ว” หรือ “รู้แล้ว” เป็นต้น. ทั้งนี้, ในการทำงานอดิเรกนี้, มักไม่ปรากฏว่ามีสิ่งมีชีวิตใดได้รับอันตราย, บาดเจ็บ, หรือถึงแก่ชีวิตเลย.
ที่มา:
มาจากการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๕ ของ พล.เอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต่อกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเผยแพร่ผลการสอบสวนการสลายการชุมนุมเมื่อปี ๒๕๕๓.
มหาอัปรียชน
ความหมาย:
บุคคลผู้เลวทรามระดับสูง, หมายถึงนักการเมืองโดยทั่วไป ที่มีความชั่วร้ายโดยกำเนิด, เจ้าเล่ห์แสนกล, ไม่น่าไว้วางใจ, เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม, และมักชักจูงหรือล่อลวงบรรดาผู้ที่มีความโง่เขลากว่าตนมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง. ฉะนั้น, จึงสมควรถูกกีดกันมิให้มีอำนาจหรือบทบาททางการเมือง, หรือหากมีก็ต้องถูกกำกับควบคุมอย่างเต็มกำลัง. หาไม่แล้วบ้านเมืองก็จะเดือดร้อนวุ่นวาย.
ที่มา:
มาจากคำให้สัมภาษณ์ของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๐.
จุลอัปรียชน
ความหมาย:
บุคคลผู้เลวทรามระดับล่าง, หมายถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือประชาชนทั่วไป ที่โดยธรรมชาติมีความชั่วร้าย, โง่เขลา, ไร้วุฒิภาวะ, ไม่อาจปกครองตนองได้, และมักถูกล่อลวงหรือตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของมหาอัปรียชน. ฉะนั้น, ผู้มีคุณธรรมสูงจึงจำต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด และสงวนสิทธิและเสรีภาพบางประการของบุคคลเช่นว่าไว้ เพื่อมิให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย.
ที่มา:
มาจากคำให้สัมภาษณ์ของศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๐.
วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
วัฒนธรรมการเข้าร่วมทางการเมืองอย่างไม่มีความเป็นการเมือง
ความหมาย :
เป็นวัฒนธรรมของสังคมการเมืองที่สมาชิกของสังคมการเมืองยังเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบชนเผ่า โดยไม่สนใจความเป็นเหตุเป็นผลของอำนาจ แต่ก็อยากเข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจดังกล่าว ทว่าการเข้าร่วมก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม
ภาษาอังกฤษ : the parochial-participant culture
วัฒนธรรมแบบเริ่มเข้าร่วมทางการเมือง
ความหมาย :
เป็นวัฒนธรรมในสังคมการเมืองที่สมาชิกในสังคมการเมืองบางส่วนเริ่มตื่นตัวถึงอำนาจในเชิงรุกของตน โดยที่สมาชิกในสังคมการเมืองที่ยังมีลักษณะวางเฉย (parochial) และมีลักษณะแบบไพร่ (subject) เริ่มกลายเป็นผู้มีส่วนร่วม (participant) ในแบบประชาธิปไตย โดยสังคมการเมืองก็เริ่มมีการสร้างสถาบันมารองรับความต้องการในการมีส่วนร่วมดังกล่าวควบคู่ไปด้วย
ภาษาอังกฤษ : the subject-participant culture
วัฒนธรรมแบบเริ่มรับรู้การเมือง
ความหมาย :
วัฒนธรรมในสังคมการเมืองแบบชนเผ่าที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสมัยใหม่ สมาชิกในสังคมการเมืองจะปฏิเสธความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิม ที่เป็นเรื่องของศาสนา หรือความเชื่อเป็นหลักมาสู่ลักษณะของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้สมาชิกในสังคมการเมืองจะรับรู้ว่ามีความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่เกิดขึ้นทว่าก็ไม่มีความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง แต่เลิกที่จะรอรับนโยบายจากฐานอำนาจใหม่ไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในลักษณะวัฒนธรรมแบบไม่สนใจการเมือง
ภาษาอังกฤษ : the parochial-subject culture
วัฒนธรรมแบบรับรู้แต่ไม่เข้าร่วมทางการเมือง
ความหมาย :
เป็นวัฒนธรรมในสังคมการเมืองที่สมาชิกในสังคมการเมืองรับรู้ถึงการบริหารกิจการบ้านเมือง และอำนาจทางการเมือง และมีความภาคภูมิใจในความเป็น/ความมีการเมือง (political) ของสังคมการเมือง ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างสังคมการเมืองกับสมาชิกยังเป็นระบบบนลงล่าง (top-down or downward flow) และวัฒนธรรมการเมืองยังเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก (affective) และเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ปฏิบัติ (normative) มากกว่าที่จะเป็นการเมืองแบบใช้เหตุใช้ผล (cognitive) เช่นกัน ทั้งนี้สมาชิกในสังคมการเมืองจึงระลึกถึงอำนาจในทางการเมืองแบบเป็นฝ่ายตั้งรับนโยบาย (passive role) แต่ไม่สนใจที่จะเรียกร้องนโยบาย (active role)
วัฒนธรรมการเข้าร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขัน (the participant political culture) เป็นวัฒนธรรมของสังคมการเมืองที่สมาชิกของสังคมการเมืองมีความผูกพันต่อสังคมการเมืองในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล (cognitive) และมีความตื่นตัวในเรื่องการใช้อำนาจเชิงรุกในทางการเมือง (active role)
ภาษษอังกฤษ : the subject political culture
วัฒนธรรมแบบไม่สนใจการเมือง
ความหมาย :
เป็นลักษณะทางวัฒนธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองแบบชนเผ่า (tribal society) เช่นในอาฟริกา และในชุมชนท้องถิ่นเล็กๆที่ปกครองตนเอง ในสังคมการเมืองดังกล่าวยังไม่มีการแบ่งงานกันทำ ไม่มีการแบ่งบทบาท รวมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการไม่แบ่งการเมือง , สังคม และศาสนาออกจากกัน วัฒนธรรมแบบไม่สนใจการเมืองจะมองการเมืองว่ามีลักษณะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก (affective) และเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ปฏิบัติ (normative) มากกว่าที่จะเป็นการเมืองแบบใช้เหตุใช้ผล (cognitive)
ภาษาอังกฤษ : the parochial political culture
วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
เทวาธิปไตย
ความหมาย :
ระบอบการปกครองที่มีพระเจ้าหรือเทพเป็นประมุข หรือในความหมายกว้าง ๆ คือระบอบการปกครองที่รัฐปกครองโดยอำนาจจากเทพ (divine guidance) หรือโดยผู้ที่ถือกันว่าได้รับอำนาจหรือการดลใจโดยตรงจากเทพ ในภาษากรีกคอยเน (Koine Greek) หรือภาษากรีกสามัญคำว่า “theocracy” มาจากคำว่า “kra′tos” โดย “the.os” หรือ “ปกครองโดยพระเจ้า” สำหรับผู้มีความศรัทธาแล้วระบบนี้ก็เป็นระบอบการปกครองที่ใช้อำนาจจากเทพในการปกครองมวลมนุษย์ในโลก ไม่โดยผู้ที่เป็นเทพกลับชาติมาเกิด (incarnation) ก็มักจะโดยผู้แทนของศาสนจักรที่มีอำนาจเหนืออาณาจักร[4] รัฐบาลที่ปกครองโดยระบบเทวาธิปไตยปกครองโดยเทพธรรมนูญ (theonom)
ภาษาอังกฤษ: Theocracy
โดยพฤตินัย
ความหมาย :
สิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกับวลี "for all intents and purposes" ("สรุปโดยทั่วไปแล้ว") หรือ "in fact" ("ตามความเป็นจริง") ในทางการปกครอง "de facto government" อาจจะหมายถึงรัฐบาลที่มีอำนาจปกครองที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นที่ยอมรับโดยนานาชาติว่าเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นคำที่ใช้สถานะการณ์ที่ไม่มีกฎหรือมาตรฐานแต่มีการปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
ฆราวาสนิยม
ความหมาย :
แนวปรัชญาที่ว่าสถาบันการปกครองหรือสถาบันการเมือง หรือ สถาบันในรูปอื่นควรจะดำเนินการปกครองที่เป็นอิสระจากการอำนาจการควบคุมของสถาบันศาสนา และหรือความเชื่อทางศาสนา
ในแง่หนึ่งสถาบันที่ดำเนินนโยบาย “ฆราวาสนิยม” ก็จะเป็นสถาบันที่ถือนโยบายของความเป็นกลางในทางด้านความเชื่อทางศาสนาของประชาชนและ/หรือผู้อยู่ในการปกครอง ที่จะดำเนินการปกครองที่เป็นอิสระจากกฎและคำสอน หรือ ความเชื่อทางศาสนา, ที่จะไม่ใช้อำนาจตามหลักความเชื่อทางศาสนาในการบังคับประชาชน และ ที่ไม่มีการมอบอภิสิทธิพิเศษหรือให้การช่วยเหลือแก่สถาบันศาสนา หรือในอีกแง่หนึ่ง “ฆราวาสนิยม” หมายถึงมุมมองที่เกี่ยวกับกิจกรรมและการตัดสินใจของมนุษย์ โดยเฉพาะกิจกรรมและการตัดสินใจทางการเมือง ว่าควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงโดยปราศจากอคติจากอิทธิพลทางศาสนา
ภาษาอังกฤษ: secularism
คุณธรรมนิยม
ความหมาย :
การจะบรรจุหรือแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งย่อมไม่กระทำโดยคำนึงถึงทักษะความสามารถและ/หรือประสบการณ์ของบุคคลนั้นเป็นที่ตั้ง หากแต่คำนึงถึงคุณธรรมของบุคคลนั้น กับทั้งสถานการณ์และความต้องการในขณะที่มีการยื่นขอเข้ารับการบรรจุหรือการแต่งตั้งเป็นหลัก นอกจากนี้ ย่อมไม่คำนึงถึงสิ่งดังต่อไปนี้โดยเด็ดขาด กล่าวคือ ความยากดีมีจน (เศรษฐยาธิปไตย) ความสัมพันธ์ทางครอบครัว (คติเห็นแก่ญาติ) ความสัมพันธ์ฉันมิตร (คติเห็นแก่มิตร) ชนชั้นวรรณะ (คณาธิปไตย) ความเต็มใจและ/หรือความต้องการของบุคคลนั้น (ประชาธิปไตย) และพื้นเพอื่น ๆ ตามแต่สถานการณ์เป็นต้นว่าอำนาจทางการเมืองหรือสถานะทางสังคม อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง การมักไม่ได้เป็นไปตามหลักดังกล่าวโดยครบถ้วนนัก กับทั้งการบรรจุและการแต่งตั้งบุคคลก็มักพิจารณาถึงความเหมาะสมกับงาน ทักษะความสามารถ และบุคลิกภาพของบุคคลนั้นเป็นที่ตั้ง
ภาษาอังกฤษ: meritocracy
การแบ่งแยกอำนาจ
ความหมาย :
เป็นแบบของการบริหารรัฐบาลในแนวทางรัฐแห่งประชาธิปไตย แบบความคิดพัฒนาครั้งแรกในยุคกรีกโบราณ อย่างไรก็ตาม ครั้งแรกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเกิดขึ้นในสมัยสาธารณรัฐโรมัน ซึ่งพบในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐโรมัน ภายใต้แบบความคิดนี้ รัฐจะถูกแบ่งออกเป็นสาขา ในแต่ละด้าน โดยแต่ละด้านเป็นอิสระจากกัน และแต่ละด้านก็มีความรับผิดชอบต่างกัน อันประกอบด้วย อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
ความยุติธรรมอันเกิดจากความเสมอภาคทางกฎหมาย
ความหมาย :
ทุกคนจะต้องได้รับการปฎิบัติโดยทัดเทียมกัน แม้ในความเป็นจริงบุคคลมีสถานะทางสังคมแตกต่างกัน แต่เมื่ออยู่ต่อหน้ากฎหมายแล้วทุกคนมีความเสมอภาคเหมือนกันหมด รัฐบาลที่ดีจะต้องนำกฎหมายไปบังคับใช้ต่อคนในสังคมอย่างเสมอภาค มิใช่เลือกปฎิบัติเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ความยุติธรรมในการแบ่งสรรปันส่วน
ความหมาย
กล่าวคือเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามความสามารถของแต่ละบุคคลตามคุณค่า (merits) ที่ถูกหนดไว้เมื่อเป็นเช่นนี้บุคคลควรได้รับการผลักดันผ่านทางระบบการศึกษาที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของรัฐ
โดยสงบ
ความหมาย
การครอบครองโดยปราศจากการข่มขู่ การใช้กำลัง การหลอกลวง และไม่มีใครมาหวงห้ามกีดกัน แสดงความเป็นเจ้าของ หรือการฟ้องร้องขับไล่่
การครอบครองปรปักษ์
ความหมาย
การครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ บุคคลผู้ครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมายไทย ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น
ภาษาอังกฤษ: adverse possession หรือ hostile possession
การกำหนดการปกครองด้วยตนเอง
ความหมาย :
สิทธิของบุคคลที่สามารถกำหนดการกระทำของตนเองได้โดยปราศจากการบังคับจากภายนอก ในทางการเมือง หลักการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นเสรีภาพของบุคคลในดินแดนที่ยกให้หรือการรวมชาติที่จะกำหนดสถานะทางการเมืองของตน และวิธีการปกครองโดยปราศจากอิทธิพลมากเกินควรจากประเทศอื่น จนถึงปัจจุบันยังมีความขัดแย้งในการจำกัดความและหลักเกณฑ์ทางกฎหมายสำหรับการกำหนดกลุ่มซึ่งกล่าวอ้างสิทธิการกำหนดการปกครองด้วยตนเองทางกฎหมาย
ภาษาอังกฤษ: Self-determination
วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
การขัดกันของผลประโยชน์
ความหมาย :
สถานการณ์ที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็นที่ไว้วางใจ เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กร ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข เป็นต้น ต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ในวิชาชีพ ซึ่งทำให้ตัดสินใจยากในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติได้ การขัดกันของผลประโยชน์นี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่ส่งผลทางจริยธรรมหรือความไม่เหมาะสมต่าง ๆ และสามารถทำให้ทุเลาเบาบางลงได้ด้วยการตรวจสอบโดยบุคคลภายนอก
การขัดกันของผลประโยชน์มิได้ปรากฏแต่ในทางวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บุคคลมีบทบาทหลากหลายและบทบาทเหล่านั้นก็เกิดขัดกันเอง เช่น ผู้จัดการฝ่ายขายอาจมีหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และก็อาจมีหน้าที่ในทางกตัญญูกตเวทีต่อญาติพี่น้องที่มาเสนอขายสินค้าใด ๆ เป็นต้น
ภาษาอังกฤษ: conflict of interest
กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง
ความหมาย :
กระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองแก่ประชาชน หรือส่งผ่านวัฒนธรรมทางการเมือง กระบวนการสังคมประกิตทางการเมือง ช่วยผดุงวัฒนธรรมทางการเมืองเดิมไว้ โดยส่งผ่านจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมย่างรวดเร็ว ฉับพลัน เช่น เกิดการปฏิวัติ กระบวนการสังคมประกิตทางการเมืองก็สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่เคยมีมาก่อนขึ้นมาใหม่ได้
เสรีภาพในการแสดงออก
ความหมาย :
เป็นสิทธิการเมืองในการสื่อสารความคิดของบุคคลผ่านการพูด คำวา เสรีภาพในการแสดงออก บางครั้งใช้เป็นคำไวพจน์ แต่ยังรวมไปถึงพฤติการณ์ใด ๆ ในการแสวงหา ได้รับและนำข้อสนเทศหรือความคิดโดยไม่คำนึงถึงสื่อที่ใช้ ในทางปฏิบัติ สิทธิในเสรีภาพการพูดมิได้มีสมบูรณ์ในทุกประเทศ และสิทธินี้โดยทั่วไปมักถูกจำกัด เช่นเดียวกับการหมิ่นประมาท การดูหมิ่นซึ่งหน้า ความลามก และการยุยงให้ก่ออาชญากรรม
ภาษาอังกฤษ: freedom of expression
ความชอบธรรม
ความหมาย :
การให้เหตุผลเกี่ยวกับการใช้อำนาจของผู้ปกครอง และผู้ปกครองมีสิ่งใดที่เป็นที่อนุญาตสำหรับการใช้อำนาจของตนเอง และประชนจะให้เหตุผลอย่างไรสำหรับการเชื่อฟังปฏิบัติตามผู้ปกครอง ความชอบธรรมนั้นประกอบไปด้วย ความมีศักยภาพของระบอบการเมือง ที่จะก่อให้เกิดการพิทักษ์รักษาความเชื่อที่ว่านี้ และหน่วยงานต่างๆ ทางด้านการเมืองที่เป็นอยู่นั้น จะต้องเป็นหน่วยงานที่มีความเหมาะสมที่สุดสำหรับสังคม ความชอบธรรมต้องมีความสำพันธ์อย่างแนบแน่นกับความหมายของคำว่า “ความรับผิดชอบ” และความจำเป็นในการปฏิบัติตามคำสั่ง
ระบบอุปถัมภ์
ความหมาย :
ระบบที่ใช้ในการบริหารงานบุคคล นับตั้งแต่ การให้ได้มาซึ่งบุคคล การบำรุงรักษา การพัฒนา การให้พ้นจากงาน โดยใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวไม่คำนึงถึงความสามารถของบุคคลเป็นเกณฑ์ "ระบบอุปถัมภ์" เป็นระบบของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีอำนาจทรัพย์สมบัติหรือบารมีกับ "ผู้รับอุปถัมภ์" ที่ต้องพึ่งพา "ผู้อุปถัมภ์" ที่อยู่เหนือกว่าและสามารถบันดาลสิ่งของที่ตนต้องการได้ เป็นการเสนอสนองตอบต่อกันที่อยู่บนพื้นฐานของข้อกำหนดทางศีลธรรม (Moral basis) ระบบอุปถัมภ์ได้รับการพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของโครงสร้างสังคมไทยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การอุปถัมภ์กันระหว่างเจ้าของที่ดินกับผู้เช่า เจ้านายกับลูกน้อง เจ้าพ่อกับมือปืน หัวคะแนนกับการเลือกตั้ง และการซื้อเสียง ข้าราชการกับนักการเมืองและนักธุรกิจการคอร์รัปชัน
โลกาธิปไตย
ความหมาย
การถือคนอื่นเป็นใหญ่ นักบริหารประเภทนี้มีวิธีทำงานที่ตรงกันข้ามกับประเภทแรกนั่นคือ นักบริหารโลกาธิปไตยไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง เขาขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่สามารถตัดสินใจอะไร ถ้านั่งเป็นประธานอยู่ในที่ประชุม เขาจะฟังทุกฝ่ายก็จริง แต่เมื่อฝ่ายต่างๆ พูดขัดแย้งกัน เขาจะไม่ตัดสินชี้ขาด แต่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทุ่มเถียง ทะเลาะกันเอง ใครเสนอความคิดอะไรมา เขาเห็นคล้อยตามด้วยจนไม่ย่อมตัดสินใจเด็ดขาดลงไปว่า ฝ่ายไหนถูกหรือผิด ในที่สุดลูกน้องต้องวิ่งเต้นเข้าหานักบริหารประเภทนี้อยู่เรื่อยไป ผลลงเอยด้วยลูกน้องตีกันเอง เพราะนักบริหารไม่ยอมวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะทำตามข้อเสนอของใคร นักบริหารประเภทนี้ได้คนแต่เสียงาน นั่นคือ ทุกคนชอบเขา เพราะเขาเป็นคนอ่อนผู้ไม่เคยตำหนิใคร ลูกน้องจะทำงานหรือทิ้งงานก็ได้ เขาไม่กล้าลงโทษ เขาสุภาพกับทุกคน แต่องค์การวุ่นวายไร้ระเบียบ และไม่มีผลงาน
อัตตาธิปไตย
ความหมาย
การถือตนเองเป็นใหญ่นักบริหารที่เป็นอัตตาธิปไตย ถือตนเองเป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจ เขาเชื่อมั่นตนเองสูงมาก คิดว่าตัวเองฉลาดว่าใคร จึงไม่รับฟังความคิดเห็นของใคร เขาไม่อดทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์เขานิยมใช้พระเดชมากกว่าพระคุณ เมื่อบริหารงานนานๆ ไป จะไม่มีคนกล้าคัดค้านหรือทัดทาน ลงท้ายนักบริหารประเภทนี้มักเป็นเผด็จการ วิธีการบริหารแบบนี้ทำให้ ได้งานแต่เสียคน นั่นคือ งานเสร็จเร็วทันใจนักบริหาร แต่ไม่ถูกใจคนร่วมงาน เขาผูกใจคนไม่ได้ เขาได้ความสำเร็จของงาน แต่เสียเรื่องการครองใจคน
ธรรมาธิปไตย
ความหมาย
การยึดถือหลักการ หลักเหตุผล หลักความจริง ความถูกต้อง ความเป็นธรรมเป็นประมาณในการบริหารจัดการต่างๆ คือจะทำอะไรก็ยึดถือธรรมเป็นหลัก ละเว้นการยึดถือตนและกระแสเสียงคนส่วนใหญ่ที่ไม่ถูกธรรมไม่เป็นธรรม
สิทธิชุมชน
ความหมาย
สิทธิในฐานะที่เขาเกิดมาเป็นมนุษย์ “สิทธิพลเมือง” ก็คือสิทธิในฐานะที่เป็น พลเมืองของประเทศ ดังนี้ “สิทธิชุมชน” จึงเป็นสิทธิของชุมชน เป็นอำนาจอันชอบธรรมที่ชุมชนพึงมีพึงได้อย่างถูกต้องชอบธรรม ผู้อื่นต้องยอมรับ จะละเมิดหรือริดรอนมิได้
วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
ระบบการเกิดรัฐชาติ
ความหมาย
ความคิดอันนี้เกิดจากความเห็นที่ว่า การพัฒนาการเมืองนั้นเกิดจากการจัดตั้งของชีวิตทางการเมืองและการปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองที่คล้องจองกับมาตรฐานของรัฐบาลในยุคใหม่ ในความเห็นนี้มีข้อสันนิษฐานว่า จากประวัติศาสตร์มีระบบการเมืองหลายระบบและทุกสั่งคมมีระบบการเมืองของตน แต่เมื่อเกิดรัฐชาติยุคใหม่ คุณลักษณะบางประการทางการเมืองของระบบรัฐชาติก็ตามมา ดังนั้น สังคมใดที่ต้องการเป็นรัฐยุคใหม่ สถาบันทางการเมืองของสังคมนั้นจะต้องปรับตัวเข้ากับคุณลักษณะเหล่านี้ การเมืองของจักรวรรดิ์ของสังคมชนเผ่าและเชื้อชาติหรือของอาณานิคมจะต้องสลายตัวไปเพื่อกลายเป็นระบบการเมืองในรัฐชาติ ซึ่งจะดำเนินไปอย่างสัมฤทธิ์ผลร่วมกับรัฐชาติอื่น ๆ
ภาษาอังกฤษ : Political Development as the Operation of a Nation – State
การพัฒนาการเมือง
ความหมาย:
การกระทำขององค์กรทางการเมืองซึ่งการกระทำนั้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากความคิดเก่าๆ ไปสู่ความคิดใหม่ๆ และความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ต้องดีกว่าเก่า
ภาษาอังกฤษ : Political Developmen
วัฒนธรรมทางการเมือง
ความหมาย :
เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของสังคมการเมืองกับสังคมการเมืองในเชิงจิตวิทยา โดยวัฒนธรรมทางการเมืองใดที่สังคมการเมืองต้องการก็มักถูกปลูกฝังให้เป็นความคิด, อุดมการณ์, ความเชื่อ ฯลฯ ของสมาชิกในสังคมการเมืองนั้นๆ ดังนั้นวัฒนธรรมทางการเมืองจึงเป็นความคิด, อุดมการณ์, ความเชื่อ ฯลฯ ที่ขึ้นตรงกับกระบวนการสร้างความคิด, อุดมการณ์, ความเชื่อ ฯลฯจากสถาบันในทางการเมืองต่างๆที่แปรผันต่างกันไปตามแต่ละสังคมการเมือง วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นมโนทัศน์ที่สำคัญในสาขาวิชาการพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นสาขาวิชาในทางรัฐศาสตร์
ภาษาอังกฤษ: Political Culture
โรคอยากกลับมาเป็นนายกฯ โดยไม่ต้องชนะเลือกตั้งทักษิณ
ความหมาย:
โรคชนิดใหม่ที่ตรวจพบครั้งแรกในอดีตนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นครองตำแหน่งด้วยวิธีพิเศษ, และแพร่ระบาดมากในหมู่สมาชิกพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่ง. ผู้ป่วยมักเป็นข้ารับใช้ของกลุ่มอำนาจนอกระบบ ซึ่งมีความขลาดกลัวหยามเหยียดประชาชนเป็นที่ตั้ง.
ที่มา:
มาจากการแสดงความคิดเห็นบนเฟสบุ๊คส่วนตัวของหม่อมหลวงมิ่งมงคล โสณกุล เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕.
โรคขี้ข้าทักษิณ
ความหมาย:
โรคระบาดที่มักเกิดกับผู้ที่มีประวัติเดินทางไปพบกับอดีตนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งที่ดูไบ, กัมพูชา, หรือฮ่องกง. ผู้ป่วยมักตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นั้น, และยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้เขาสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี. ทั้งนี้, สมาชิกพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งมักมีภูมิต้านทานโรคสูง.
ที่มา:
มาจากคำกล่าวในงานสานเสวนา “ผ่าความจริง หยุดกฎหมาย ล้างผิดคนโกง” และการแสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๕
ไพร่
ความหมาย:
สามัญชนโดยทั่วไปที่นอกจากจะถูกกีดกันหรือไม่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับชนชั้นปกครองซึ่งจะอำนวยสิทธิพิเศษทางการเมือง, เศรษฐกิจ, หรือสังคมให้ได้แล้ว, ยังต้องตกเป็นเครื่องมือ, แบกรับภาระ, หรือได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอันเกิดจากการกระทำของชนชั้นดังกล่าวด้วย, จึงเป็นเหตุให้ศรัทธาและเพรียกหาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์,เสรีภาพ, ความเสมอภาค, ความยุติธรรม, และประชาธิปไตย.
ที่มา:
คำนี้ถูกให้ความหมายใหม่โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ระหว่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองในราวเดือนมีนาคม ๒๕๕๒, และนับตั้งแต่นั้นมา ได้กลายเป็นวาทกรรมที่นิยมผลิตซ้ำและใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายโดยคนเสื้อแดง เพื่อตอกย้ำให้เห็นความขัดแย้งทางชนชั้นและภาวะที่พวกตนถูกกระทำ.
วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
ประชาธิปไตยแบบทางอ้อม
ความหมาย
เป็นการปกครองโดยที่ประชาชนมีหน้าที่เลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนในรัฐสภา โดยการเลือกตั้งจะคัดเอาผู้ที่มีคะแนนเสียงเหนือกว่าเป็นมาตรฐานทั่วไป ผู้แทนดังกล่าวนอกเหนือจากจะสามารถมาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้ว ยังอาจเข้ามาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ หรืออาจมาจากการกำหนดผู้แทนโดยพรรคการเมือง หรืออาจใช้รูปแบบผสมผสานกัน การปกครองแบบประชาธิปไตยทางอ้อมบางรูปแบบได้ดึงเอาลักษณะของประชาธิปไตยทางตรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ การลงประชามติ การปกครองแบบดังกล่าวถึงแม้ว่าประชาชนจะเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่แทนตน แต่ผู้แทนเหล่านั้นก็ยังคงมีอำนาจตัดสินใจของตนเอง และเลือกวิธีการดำเนินการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่
ภาษาอังกฤษ: Indirect Democracy
ประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยบริสุทธิ์
ความหมาย
เป็นรูปแบบการปกครองซึ่งประชาชนออกเสียงในการริเริ่มนโยบายต่าง ๆ โดยตรง ซึ่งขัดกับประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนตรงที่ประชาชนออกเสียงเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ออกเสียงการริเริ่มนโยบายออกทอดหนึ่ง ประชาธิปไตยทางตรงอาจนำมาซึ่งการผ่านการตัดสินใจบริหาร, เสนอกฎหมาย, เลือกตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่และดำเนินการไต่สวน ประชาธิปไตยทางตรงหลัก ๆ สองรูปแบบมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ
ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
ความหมาย
การมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง ตลอดจนการกำหนดวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้ไม่ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ ตามระบอบการเมืองการปกครองที่ไม่ไปก้าวก่ายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นหรือสังคมส่วนรวม การมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอาจจะจำแนกเป็น 3 ระดับ คือ
การมีส่วนร่วมในระดับเบื่องต้น เช่น ร่วมแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง, ร่วมพูดคุยอภิปรายเรื่องราวทางการเมืองและสถานการณ์ปัจจุบัน, ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอเรื่องราวหรือประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งในทางการเมือง, รวมกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อแสดงความคิดเห็นในทางการเมือง, เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
การมีส่วนร่วมในระดับกลาง เช่น ร่วมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม, ร่วมปราศัยในการชุมนุมเรียกร้องเรื่องราว, ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอให้ฝ่ายที่มีอำนาจตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง, ร่วมอดข้าวประท้วงหรือร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเรียกร้อง
การมีส่วนร่วมในระดับสูง เช่น ร่วมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา, ร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง, ร่วมก่อตั้งรัฐบาล
NGO
ความหมาย
องค์กรที่ไม่ใช่ภาคราชการ และไม่ใช่ภาคธุรกิจที่แสวง หากำไร ก่อตั้งและดำเนินการโดยกลุ่มบุคคล ที่มีความมุ่งมั่นในอันที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข ปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของกลุ่มบุคคลผู้ด้อยโอกาสและประชาชนผู้ทุกข์ยาก อันเกิดจากผลกระทบของการพัฒนา
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)