วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555
ปลาวาฬสีน้ำเงิน
ความหมาย:
น้ำหนักของมวลน้ำในอุทกภัยใหญ่เมื่อปี ๒๕๕๔, โดยมวลน้ำ ๑๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำหนักเท่ากับปลาวาฬสีน้ำเงินจำนวน ๕๐ ล้านตัว.
คำที่มีความหมายเดียวกัน: น้องน้ำ
ที่มา:
มาจากตัวละครในวีดิทัศน์แอนิเมชั่น ชุด “รู้สู้ Flood ตอนที่ ๑: รู้จักน้ำท่วมให้มากขึ้น” ซึ่งผลิตและเผยแพร่โดยกลุ่มอาสาสมัครนามว่า “รู้ สู้! Flood” เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔.
โทรสั่งพิซซ่า ๑๑๑๒
ความหมาย:
ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒.
ที่มา:
มาจากคำล้อเลียนข้อความของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่เขียนบนเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า “เลิก ๑๑๒ สิครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง” เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๕. ภายหลัง, สำนวนนี้กลายเป็นแท็กไลน์ที่มีผู้นิยมใช้ในกรณีที่ตนไม่อาจเปิดเผยข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวแก่เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ด้วยเกรงว่าจะกระทบสวัสดิภาพของตนและครอบครัว.
███████
ความหมาย:
บุคคล, เหตุการณ์, เรื่อง, การกระทำ, หรือวัตถุสิ่งของที่คุณก็รู้ว่าคือใครหรืออะไร แต่มิอาจระบุชื่อบุคคลหรือสิ่งนั้นออกมาได้โดยตรง อันเนื่องมาจากมีอุปสรรคบางประการกีดขวางอยู่—โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, กฎหมายที่มีอัตราโทษสูงอย่างเหลือเชื่อ หรือกฎหมู่ที่มีความป่าเถื่อนรุนแรง เป็นต้น.
ที่มา:
เริ่มใช้และแพร่หลายบนเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๕. การใช้รหัสลับเพื่อรับและส่งสารเช่นนี้สะท้อนให้เห็นภาพสังคมที่มีการปิดกั้นบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร, การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางได้เป็นอย่างดี.
ทพจร.
ความหมาย:
คำอวยพรที่กลายเป็นคาถาสำเร็จรูป ซึ่งมีผู้นิยมใช้เป็นจำนวนมาก และมักบริกรรมโดยมีวัตถุประสงค์หลายประการ, อาทิ เพื่อประกาศความรักบริสุทธิ์อันหาที่สุดมิได้, เพื่อความปลอดภัยและความเจริญก้าวหน้าในชีวิตการงาน, เพื่อปัดป้องคำวิพากษ์วิจารณ์หรือการตรวจสอบ, หรือเพื่อใช้เป็นใบอนุญาตในการแสดงออกหรือก่อการใดๆ ในนามแห่งความรัก—ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีเหตุผลหรือหลักวิชารองรับ หรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม—เป็นต้น.
ที่มา:
พฤติกรรมการบริกรรมคาถาเช่นว่านี้สามารถพบเห็นได้มาเป็นระยะเวลาช้านาน, ทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจริง.
วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555
สงครามครั้งสุดท้าย
ความหมาย:
การรณรงค์ทางการเมืองครั้งใหญ่ เพื่อเคลื่อนไหวกดดันอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด, โดยมักมีการระดมกำลังคนและทรัพยากรจำนวนมหาศาล และใช้ยุทธวิธีอันวิจิตรพิสดารต่างๆ นานา. ผู้เข้าร่วมรณรงค์มักถูกปลุกเร้าให้รู้สึกว่ากำลังเสียสละเพื่อกู้ชาติบ้านเมืองจากความฉิบหาย.
คำที่มีความหมายเดียวกัน: การต่อสู้ครั้งสุดท้าย.
ที่มา:
คำนี้มักใช้ในหมู่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย—โดยเฉพาะอย่างยิ่ง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล—ซึ่งใช้บ่อยจนกลายเป็นคำพูดติดปาก. เป็นที่น่าสังเกตว่าสงครามครั้งสุดท้ายอาจเกิดขึ้นได้หลายครั้ง
โทสวาท
ความหมาย: [โทสะวาท]
คำพูดที่มุ่งโจมตี, ใสร้าย, ประจาน, หรือประณามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ ซึ่งเป็นผลจากหรือนำไปสู่ความรังเกียจชิงชังในเรื่องเพศ, เพศสภาพ, ความบกพร่องทางร่างกาย, สีผิว, สัญชาติ, ชาติพันธุ์, ศาสนา, ลัทธิพิธี, อุดมการณ์ทางการเมือง, หรือลักษณะเฉพาะอื่นๆ ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้น.
คำพูดที่มุ่งโจมตี, ใสร้าย, ประจาน, หรือประณามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดๆ ซึ่งเป็นผลจากหรือนำไปสู่ความรังเกียจชิงชังในเรื่องเพศ, เพศสภาพ, ความบกพร่องทางร่างกาย, สีผิว, สัญชาติ, ชาติพันธุ์, ศาสนา, ลัทธิพิธี, อุดมการณ์ทางการเมือง, หรือลักษณะเฉพาะอื่นๆ ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้น.
ที่มา:
มาจากบทความชื่อ “โทสวาท” ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๓-๑๙ มกราคม ๒๕๕๕.
มาจากบทความชื่อ “โทสวาท” ของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๑๓-๑๙ มกราคม ๒๕๕๕.
(อังกฤษ: hate speech)
พญาควาย
ความหมาย:
ประเทศมหาอำนาจทางเกษตรกรรม, อันเป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยควรมุ่งไป และจะบรรลุได้ด้วยการที่ประชาชน: รักษามรดกทางวัฒนธรรม, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม; ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความพอประมาณ, มีเหตุผล, และมีภูมิคุ้มกัน; ยึดหลักคุณธรรม, จริยธรรม, และศีลธรรม; ไม่ใช้กิเลสเป็นเครื่องนำทาง; ไม่อิงหลักวิชาของชาวตะวันตก; และไม่ตกเป็นทาสทุนนิยม, วัตถุนิยม, และบริโภคนิยม.
คำที่มีความหมายเดียวกัน: มหิงสา
ที่มา:
มาจากสุนทรพจน์พิเศษของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในการเสวนาวิชาการหัวข้อ “ก้าวข้ามภาวะวิกฤติ สู่ความมั่นคงยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ อาคารรัฐสภา ๒.
ความเห็นส่วนตัว
ความหมาย:
ความนึกคิด, ข้อสังเกต, ข้อวินิจฉัย, หรือทัศนคติของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งแสดงออกตามประสบการณ์, ความเชื่อ, หรือค่านิยมส่วนตัวเท่านั้น, โดยมิได้อิงอยู่กับความเห็นพ้องต้องกันของกลุ่มหรือของสาธารณชนแต่อย่างใด และอยู่นอกเหนือขอบเขตของข้อเท็จจริง, หลักการ, หรือความรู้อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป. เมื่อใช้สำนวนนี้, ผู้พูดมักบอกเป็นนัยว่าตนไม่ขอรับผลพวง, คำวิพากษ์วิจารณ์, ข้อโต้แย้ง, หรือการหักล้างที่อ้างอิงข้อเท็จจริงหรือหลักวิชาการ.
ความนึกคิด, ข้อสังเกต, ข้อวินิจฉัย, หรือทัศนคติของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งแสดงออกตามประสบการณ์, ความเชื่อ, หรือค่านิยมส่วนตัวเท่านั้น, โดยมิได้อิงอยู่กับความเห็นพ้องต้องกันของกลุ่มหรือของสาธารณชนแต่อย่างใด และอยู่นอกเหนือขอบเขตของข้อเท็จจริง, หลักการ, หรือความรู้อันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป. เมื่อใช้สำนวนนี้, ผู้พูดมักบอกเป็นนัยว่าตนไม่ขอรับผลพวง, คำวิพากษ์วิจารณ์, ข้อโต้แย้ง, หรือการหักล้างที่อ้างอิงข้อเท็จจริงหรือหลักวิชาการ.
ที่มา:
มีผู้นิยมใช้สำนวนนี้ในการแสดงความคิดเห็นทั้งในพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะ–โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์–เป็นอย่างมาก, จนดูราวกับว่าหากไม่ใช้ ความเห็นของตนจะกลายเป็นความเห็นของมวลมนุษยชาติ.
มีผู้นิยมใช้สำนวนนี้ในการแสดงความคิดเห็นทั้งในพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะ–โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์–เป็นอย่างมาก, จนดูราวกับว่าหากไม่ใช้ ความเห็นของตนจะกลายเป็นความเห็นของมวลมนุษยชาติ.
เมืองดัดจริต
ความหมาย:
อาณาจักรที่เป็นศูนย์รวมมนุษย์ผู้มีความเสแสร้ง, มารยาสาไถย, หน้าไหว้หลังหลอก, และปากว่าตาขยิบซึมลึกเข้าถึงระดับโครงสร้างทางพันธุกรรม. มีรูปแบบปกครองระบอบดัดจริตาธิปไตย. ลักษณะเด่นของประชาชนคือมักแสดงตนว่าเป็นผู้มีศีลธรรมสูง, มีน้ำใจงดงามเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, รักเพื่อนมนุษย์, รักธรรมชาติ และรังเกียจทุนนิยม. บรรดาผู้ที่แม้จะมีความเถรตรงโดยกมลสันดานจำต้องฝึกหัดและครองตนตามแนวนโยบายดัดจริตแห่งชาติ, มิเช่นนั้นจะหาความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตได้ยาก หรือประสบเคราะห์กรรมนานัปการ เช่นว่า ถูกขับไล่ออกจากแผ่นดินเกิด หรือโดนเก้าอี้ฟาด เป็นต้น.
ที่มา:
มาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นหลังปี ๒๕๔๙. คำนี้เริ่มใช้อย่างแพร่หลายเมื่อมีการก่อตั้งเพจอยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อป บนเฟสบุ๊คเมื่อกลางปี ๒๕๕๔.
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)